Accessibility Tools

ศาลจังหวัดมหาสารคาม
Mahasarakham Provincial Court

เกี่ยวกับหน่วยงาน
image

ศาลจังหวัดมหาสารคาม

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

  ประวัติศาลยุติธรรม

   ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีอยู่มากมายหลายศาลกระจายกันอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆ และมีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีต่างพระเนตรพระกรรณแทนพระมหากษัตริย์ต่อมาเมื่อบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น มีการติดต่อกับชาวต่างชาติลัทธิชาวตะวันตกได้แผ่ขยายเข้ามาทำให้ระบบการศาลไทยมีการเปลี่ยนแปลงมิฉะนั้นอาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกได้ จึงมีการปฏิรูประบบการศาลไทยขึ้นใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีบทบาทในการวางรากฐานระบบการศาลยุติธรรมโดยได้รวมศาลที่กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงกรมต่างๆให้มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีดำเนินไปด้วยความรวดเร็วถูกต้องเหมาะสมไม่ทำให้ราษฎรเดือดร้อน

และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ ๑๐๐ ปี ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางขบวนพยุหยาตรามาวางศิลาก่อพระฤกษ์อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรม และทรงโปรดฯให้จารึกพระราชปรารภในการจัดตั้งศาลยุติธรรมไว้ในแผ่นเงิน ซึ่งเรียกว่า"หิรัญบัตร" มีความกว้าง ๙.๕ ซ.ม.ยาว ๓๗.๒ ซ.ม.จำนวน ๔ แผ่น ฝังอยู่ใต้อาคารศาลสถิตย์ยุติธรรมบนแผ่นเงินจารึกด้วยอักษรไทยที่สวยงามและทรงคุณค่ามาก แสดงให้เห็นถึงพระบรมราโชบายในการปกครองแผ่นดินว่ามีพระราชประสงค์ให้ตั้งศาลขึ้นเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดอรรถคดีทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากรและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

ศาลจึงเป็นสถาบันที่ประสิทธิ์ประสาทความยุติธรรมให้แก่ประชาชนสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้ และในโอกาสที่กรุงเทพมหานครครบรอบ ๒๒๐ ปี ซึ่งตรงกับศาลยุติธรรมครบรอบ ๑๒๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ สำนักงานศาลยุติธรรมจึงร่วมกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศาลไทยและหอจดหมายเหตุขึ้นเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่มีต่อศาลยุติธรรมจึงถือเอาวันที่ ๒๑ เมษายนของทุกปีเป็น "วันศาลยุติธรรม"

ทรงเล็งเห็นว่าบ้านเมืองจะอยู่ด้วยความสงบสุขร่มเย็นต้องอาศัยการศาลเป็นสำคัญ จึงทรงจัดระบบกฎหมายและระเบียบทางการศาลขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก โดยมีกรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขกฎหมายและปฏิรูประบบการศาลยุติธรรมให้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

                    

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแบ่งแยกงานศาลยุติธรรมออกต่างหากจากกันเป็นสองฝ่าย คืองานธุรการและงานตุลาการ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการส่วนงานตุลาการ คือการพิจารณาพิพากษา เป็นอำนาจของตุลาการโดยเฉพาะ นับแต่ตั้งกระทรวงยุติธรรมทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบงานธุรการของศาลยุติธรรมมาได้ ๑๐๐ ปีเศษ จึงได้เกิดแนวความคิดที่จะแยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้พ้นจากข้อระแวงสงสัยว่าศาลยุติธรรมอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหารและไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

จนกระทั่งได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ แยกศาลยุติธรรมออกจากกระทรวงยุติธรรม บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยงานธุรการของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๕ บัญญัติให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ จึงถือว่าศาลยุติธรรมแยกออกจากกระทรวงยุติธรรมนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ประวัติศาลจังหวัดมหาสารคาม

           แต่เดิมที่ทำการศาลจังหวัดมหาสารคาม เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ในบริเวณเดียวกับศาลากลางจังหวัดมหาสารคามและอำเภอเมืองมหาสารคาม ภายหลังปรากฏว่าตัวอาคารเล็กและคับแคบไม่เพียงพอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น จึงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมอีก โดยต่อปีกขยายด้านข้างทั้งสองด้าน เพื่อใช้เป็นห้องพิจารณาและห้องเจ้าหน้าที่ธุรการ ต่อมาปรากฏว่าอาคารศาลเดิมชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนไม่สามารถทำการซ่อมแซมให้คงสภาพดีได้ เว้นแต่จะสร้างขึ้นใหม่ และหากจะใช้เป็นที่ทำการศาลต่อไปก็เกรงว่าจะพังลงมาเป็นอันตรายแก่ข้าราชการและประชาชนที่มาศาล กระทรวงยุติธรรมจึงได้อนุมัติให้เช่าอาคารเดิม ซึ่งเดิมเป็นสถานีอนามัยชั้นหนึ่ง ของเทศบาลเมืองมหาสารคามเป็นที่ทำการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๐๓ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ กระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณค่าก่อสร้างอาคารศาลจังหวัดมหาสารคามหลังใหม่เป็นอาคารตึก ๒ ชั้น หลังคาทรงไทย ขนาด ๔ บัลลังก์ ตามแบบแปลนและรายการก่อสร้างของกรมโยธาธิการ นอกจากนั้นยังได้ก่อสร่างบ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและบ้านพักผู้พิพากษา เป็นเงิน  ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดสร้างเสร็จตามสัญญาภายในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๙ การก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๘ ศาลจังหวัดมหาสารคามได้รับงบประมาณจากกระทรวงยุติธรรมทำการต่อเติมและปรับปรุงอาคารศาลชั้นบนและชั้นล่าง โดยต่อเติมอาคารทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ๒ ด้าน และต่อเติมมุมด้านหลังออกเป็น ๒ ชั้น ทำเป็นห้องผู้พิพากษาหัวหน้าศาลและผู้พิพากษา   ห้องรับรองใต้ถุนก่อสร้างเป็นห้องขังชาย – หญิง ชนิดห้องขังโปร่งเมื่อต่อเติมแล้วเป็นศาลขนาด ๗ บัลลังก์  สำหรับอาคารศาลชั้นล่างเป็นห้องทำการของ เจ้าหน้าที่ธุรการ ห้องเก็บสำนวน ห้องสมุดศาล ห้องเก็บแบบพิมพ์ ห้องพักเวรยามศาล สำหรับห้องว่างอีก ๒ ห้อง กับห้องขังชาย - หญิง กระทรวงยุติธรรม มีนโยบายที่จะตั้งแผนกคดีเด็กและเยาวชน พร้อมกันนี้ก็ได้รับงบประมาณก่อสร้างบ้านพักผู้พิพากษา ๒ หลัง บ้านพักรองจ่าศาล ๒ หลัง และเรือนแถวเจ้าหน้าที่ธุรการ จำนวน ๑๐ หน่วย เป็นเงิน ๑๒,๒๗๐,๔๐๐ บาทแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๒๙ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับงบประมาณจากสำนักงานศาลยุติธรรม ก่อสร้างอาคารชุดที่พักอาศัยข้าราชการธุรการ จำนวน ๑๒ หน่วย เป็นเงิน ๑๖ ล้านบาทเศษ และขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน ๒๒ ล้านบาท สำหรับสร้างบ้านพักตุลาการ

ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ศาลจังหวัดมหาสารคาม ได้รับงบประมาณจากสำนักงานศาลยุติธรรม ในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศาลตามแบบรูป และรายละเอียดของกองออกแบบและก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นจำนวนเงิน ๓๗,๗๖๐,๐๐๐ บาท (สามสิบเจ็ดล้านเจ็ดแสนหกหมื่นบาท) โดยกำหนดการสร้างให้แล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป และได้รับงบประมาณเพิ่มเติมต่อท้ายสัญญาจ้างงานเพิ่มโรงอาหาร ที่จอดรถ งานถนน เสาธง ป้ายชื่อศาล รั้ว และป้อมยาม เป็นเงิน ๑๑,๗๑๐,๐๐๐ บาท และได้รับอนุมัติให้ขยายเวลาทำการปรับปรุงออกไปอีก ๒ ครั้ง รวมจำนวน ๒๐๕ วัน โดยสัญญาสิ้นสุด วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๔

image